Account 5.0 -ERP II และ Postmodern ERP
ยุคสมัยของ ERP เริ่มต้นเมื่อปี 2533 (1990) ประมาณ 30 ปีที่แล้ว หมายถึงโปรแกรมระบบงานธุรกิจ ที่ประกอบด้วยระบบย่อยต่างๆ แต่มีคุณสมบัติสำคัญคือใช้ database ร่วมกัน เป็นการขยายความให้กว้างกว่า MRP ที่เน้นเฉพาะระบบในธุรกิจการผลิตเป็นหลัก จนกลายเป็นชื่อเรียกระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในองค์กรทั่วไป
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อมี internet เกิดขึ้น ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อกันทั่วโลก Gartner ได้ทำนายเพิ่มเติมถึงรูปแบบการทำงานขององค์กรธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปอีกครั้ง
- ERP II ปี 2543 (2000) มองว่า internet ทำให้บริษัทต่างๆ จะเชื่อมต่อกันมากขึ้น เกิดเป็น value chain ข้ามองค์กรกันได้ ดังนั้น ERP II รวมระบบย่อยเพิ่มเข้ามา กว้างขวางมากขึ้น มีความสามารถเชื่อมต่อระหว่างบริษัท
- Postmodern ERP ปี 2553 (2010) มองว่าธุรกิจยุคใหม่มีความหลากหลาย และซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้พัฒนาโปรแกรมรายเดียวจะทำได้ทั้งหมด Software Architecture เปลี่ยนไป เทคโนโลยี cloud ทำให้โปรแกรมระบบงานต่างๆ เชื่อมต่อกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจากผู้พัฒนารายเดียวเท่านั้น
เนื้อหาที่กล่าวต่อไป เรียบเรียงมาจากบทความต่างๆ และเลือกบางแง่มุมออกมานำเสนอตามความเข้าใจของผู้เขียนเอง ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมจาก อ้างอิง ตอนท้ายของบทความ
ERP II ต่างจาก ERP อย่างไร
ถึงแม้ว่า Gartner จะใช้คำที่น่ากลัวว่า ERP is dead, long live ERP II มาจั่วหัวบทวิจัยเมื่อปี 2000 แต่ความจริงไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น
นิยามของ ERP II คือ การพัฒนาต่อยอดจาก ERP เดิม ที่ประกอบด้วย ระบบย่อยที่เป็น core business เช่น Accounting, Human Resource, Sales Order เป็นต้น ทำนายว่าต่อไปจะต้องมีระบบย่อยอื่นๆ ที่สำคัญมาทำงานร่วมกันในระบบ ERP เพิ่มมากขึ้น เช่น Distribution, Customer Service, Procurement, BI เป็นต้น พูดง่ายๆ คือ ERP จะกลายเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ขึ้น เหมารวมเอางานของฝ่ายต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ERP มากขึ้น
คีย์เทคโนโลยีสำหรับ ERP II คือ internet ที่นำระบบงานไปสู่หน่วยงานที่อยู่ห่างไกลได้ทำงานร่วมกับระบบงานส่วนกลางได ้
Postmodern ERP
10 ปีต่อมา หลังจากนำเสนอ ERP II เทคนิคการพัฒนา software ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ Cloud Computing และเปลี่ยนรูปแบบการขาย License กลายเป็นบริการ Software as a Service (SaaS)
คราวนี้ Gartner มองว่าต่อไปจะเป็นยุคของ Postmodern ERP เปลี่ยน Software Architecture จากระบบปิดผูกขาดโดยผูัพัฒนารายเดียว กลายเป็นระบบเปิด ที่อาจมีระบบงานย่อยๆ จากผู้พัฒนาหลายราย มาประกอบกันกลายระบบงานที่ใช้ร่วมกันในองค์กร
ERP III
ด้วยมุมมองที่ว่า Big Data เป็นเรื่องใหญ่ ที่ “จำเป็นต้องลงทุน” สำหรับองค์กรยุคใหม่ เพื่อรองรับโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น e-commerce, social marketing ฯลฯ ดังนั้นจึงมีแนวคิดของการทำงานร่วมกันระหว่าง ERP กับ Big Data กลายเป็นการพัฒนาในยุคของ ERP III
Hybrid ERP
ทั้ง Postmodern ERP และ ERP III เรียกได้ว่าเป็นการรื้อสร้างใหม่ เปลี่ยนแปลงการออกแบบโปรแกรมไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้พัฒนาโปรแกรม ERP เดิม และผู้ประกอบการที่ลงทุนใช้งานระบบเก่า ไม่กล้าเสี่ยงที่จะเริ่มต้น จึงมีแนวคิดประนีประนอม หาทางปรับปรุงจากพื้นฐาน ERP เดิมแทน
สำหรับองค์กรที่ลงทุนระบบ ERP มาเนิ่นนานแล้ว จึงเลือกพัฒนาในแนวทางนี้ ขณะที่องค์กรยุคใหม่อาจข้ามผ่านไปยุคใหม่ โดยไม่ต้องแบกอดีตไปด้วย
Big data & mindset
โปรแกรมที่ออกแบบมาในยุคที่ยังไม่มี internet ไม่มี mobile device ย่อมไม่สามารถจินตนาการถึงวิธีการทำงานโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำได้เพียงปรับเปลี่ยนหรือตัดต่อให้เข้ากับเทคโนโลยี่ใหม่ เท่าที่โครงสร้างที่ออกแบบไว้เดิมรองรับ
ในความเห็นของผู้เขียนมองว่า โลกที่หมุนเร็วขึ้น การสื่อสารยุคใหม่ ต้นทุนในการสื่อสารที่ต่ำมาก มีช่องทางที่หลากหลาย สามารถตอบโต้กันได้ทันที วิธีการสื่อสารจึงให้ความสำคัญกับความเร็วในการตอบสนอง แล้วสามารถปรับปรุงหรือเติมข้อมูลให้ชัดเจนเพิ่มได้เรื่อยๆ วิธีคิดจึงต่างจากยุคสมัยเดิม ที่การสื่อสารต้องใช้ต้นทุนสูง ทำให้ต้องกักเอาไว้ รอข้อมูลครบถ้วน แล้วจึงค่อยสื่อสารที่ชัดเจนแล้วออกไป
โลกของ Computer System ที่วิธีคิดหลายๆ อย่าง ที่ทำให้เห็นแล้ว เช่น Server Process เราผ่านยุคที่คิดว่า “ห้ามตาย” ต้องเลือกใช้อุปกรณ์ดีที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด แข่งกันนับจำนวนวันที่ทำงานโดยไม่ต้อง restart กลายมาเป็น “ตายแล้วฟื้นได้” ให้ความสำคัญที่ความเร็วในการฟื้น เมื่อหลักคิดเปลี่ยน การพัฒนาของระบบยุคใหม่ จึงมุ่งไปที่ cloud, cluster, virtual machine, container และ micro service หาทางพัฒนาโปรแกรมที่ใช้เวลาน้อยที่สุดเมื่อต้อง cold start เพื่อเป้าหมายฟื้นกลับมาได้เร็วที่สุด ดังที่เห็นในปัจจุบัน แทนที่จะมุ่งพัฒนาสิ่งที่คงกระพันไม่มีวันตาย
ขณะที่ Big data ก็เป็นจักรวาลใหม่ ที่จะเปิดไปสู่ AI, IOT, ML และชื่อมากมายที่เรายังไม่คุ้นเคย มีขนาดกว้างใหญ่เกินกว่า ERP Database (RDBMS) จะรองรับได้
มาพร้อมกับวิธีคิดใหม่ รูปแบบการทำงานที่แตกต่างไป เช่น เปลี่ยนจากวางแผนยาวๆ planning กลายเป็น agile คิดเร็วทำเร็ว ผิดได้แก้เร็ว เรื่องราวการเปลี่ยนผ่าน จึงขึ้นอยู่กับ ทัศนคติและวัฒนธรรมองค์กร
สุดท้าย ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียน คิดไว้คือ core value ของ ERP เดิม Resource Planning และวัฒนธรรมการทำงานเดิม ยังใช้ได้อีกนานแค่ไหน เมื่อโลกยุคที่ต้องเผชิญกับ Unknowns ถี่ขึ้น เราต้องเริ่มตั้งคำถาม ค้นหา core value ใหม่ หลุดพ้นจากกรอบคิดเก่า สำหรับองค์กรยุคใหม่ หรือยัง
อ้างอิง
- Researchgate (2008), ERP is dead, long live ERP II
- Researchgate (2004), ERP II -next generation Extended Enterprise Resource Planning
- Gartner, Postmodern ERP
- Gartner (2016), 5 ugly truths about Postmodern ERP
- IITRun (2010), ERP vs. ERP II vs. ERP III Future Enterprise Applications
- SDCExec (2017), Beyond Enterprise Resource Planning
- ธนชาติ นุ่มนนท์ (2015), เทคโนโลยีสำหรับ Big Data